Drive

Windygallery
1 min readJul 9, 2023

--

ถ้าคุณรู้สึกว่าลูกคุณกำลังโตขึ้น
เริ่มคุยกับลูกไม่รู้เรื่อง
บอกอะไรแล้วไม่ทำ
ต้องกลายร่างเป็นยักษ์เป็นมารก่อนถึงจะขยับ
ผมมีเรื่องเล็กๆมาเล่าให้ฟัง

คุณแม่หลายคนอาจจะยังมีภาพจำของเด็กน้อยตัวเล็กๆ
ที่จริงๆ กำลังโตขึ้นอย่างรวดเร็วทุกวัน
และคุ้นชินกับการบอกให้เด็กน้อยทำตามที่บอกแบบเด็กๆ
แต่สิ่งที่เด็กกำลังพัฒนาคือกระบวนการในการคิด

และเริ่มมีความสนใจในสิ่งต่างๆรอบตัวมากขึ้น
พร้อมๆกับการพัฒนาเหตุผล และความชอบ
ที่อาจจะไม่ได้แสดงผ่านคำถาม แต่ผ่านทางการกระทำ
เช่นการทำอะไรติดพัน ไม่ยอมลุกไม่ยอมปล่อย

ปัญหาจะเริ่มเกิดเมื่อ เราบอก(สั่ง/บังคับ)
ให้เขาไปทำ(ในสิ่งที่เราคิดว่าจำเป็น/ควรต้องทำ)
แต่เขายังไม่รู้ว่าทำไมต้องทำ(ตอนนั้น)
และยังไม่ได้สนใจจะทำ(ตอนนั้น)

สิ่งที่คุณแม่ส่วนใหญ่อาจจะพลาดได้ง่าย คือ
การแปลงร่างเป็นร่างสองและร่างสาม
เพื่อบังคับให้ลูกๆทำในสิ่งที่ต้องการ
(ในอีกมุมนึง คือการใช้อำนาจที่เหนือกว่าบังคับให้ทำ)

พอใช้ท่านี้ไปนานๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายก็คือ
การต่อต้านแบบ “ดื้อเงียบ” คือ ไม่ทำทันที
ทำให้แม่ๆอาจต้องแปลงร่างบ่อยขึ้น
และเหนื่อยมากขึ้นเรื่อยๆ

จริงๆทางออกของปัญหานี้ ทำได้หลายแบบ
แต่สองไอเดียหลักๆที่ผมลองทำแล้วเวิร์ค
ได้มาจากหนังสือเรื่อง Drive (Daniel H. Pink)
กับ Start with Why (Simon Sinek)
ซึ่งทั้งสองไอเดียนี้ เริ่มทำได้ง่ายๆที่ตัวเรา

ไอเดีย 1: สังเกตหา “แรงจูงใจ” ที่เด็กสนใจให้ได้ก่อน

  • “เปลี่ยนจากคำพูดบอกถึงสิ่งที่เราต้องการ ให้เป็นสิ่งที่เขาต้องการ”
    ถ้ายังไม่มีแรงจูงใจของเด็ก ให้สร้างแรงจูงใจร่วมระหว่างแม่กับลูกให้ได้ก่อน
    ตัวอย่างชัดๆ เช่น ถ้า เราจะออกไปเที่ยวด้วยกัน แต่เด็กไม่เตรียมตัว/รีบกินข้าวให้เรียบร้อย ให้คุยกันถึงเวลาที่เด็กอยากเที่ยว ว่าเราจะมีเวลาเหลือน้อยแค่ไหน และถ้าเขาอยากได้เวลามากขึ้น เขาควรทำแบบไหนที่จะทำให้เราได้เวลามาทำในสิ่ง (“ที่เขา”) อยากทำมากขึ้น
  • การพูดถึงแต่สิ่งที่ผู้ใหญ่อยากทำ ไม่ได้ช่วยกระตุ้นในทางบวกกับเด็ก แต่มักจะทำลายแรงจูงใจของเด็กได้ง่าย การแปลงร่างเป็นยักษ์และใช้อำนาจบังคับจะยิ่งบั่นทอนความสามารถในการโน้มน้าวเชิงบวกของผู้พูดเองในระยะยาว
  • แรงจูงใจที่มีประสิทธิภาพสูงจะมาจากสิ่งที่เด็กสนใจ ความยากของการคุย คือการหาจุดร่วมกันของจุดแรงจูงใจของเด็กกับสิ่งที่ควรต้องทำภายในกรอบเวลาจำกัด
  • ในช่วงเด็กกำลังโต เด็กอาจจะเริ่มอยากเที่ยวไม่เหมือนที่พ่อแม่คิด หรือไม่อยากไปในที่ๆพ่อแม่อยากจะพาไป เขาอาจจะอยากอยู่บ้านดูหนังสือ เล่นเกมส์ ตามความชอบใจส่วนตัว (ที่ผู้ใหญ่อาจไม่เห็นด้วย) สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือ การฟังความต้องการของเด็ก และหาจุดสนใจร่วมกันก่อนตกลงสิ่งที่จะไปทำด้วยกัน (จะขัดใจพ่อแม่ที่จากเดิมลากลูกให้ไปตามใจตัวเองอย่างเดียว) หรือถ้าไม่มีจริงๆ การตามใจลูกบ้างก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการให้เด็กมีพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองก่อน
  • การชม เมื่อเป็นการเสริมการกระทำในทางบวกที่ง่ายที่สุด ที่คนส่วนใหญ่อาจละเลย ชมเมื่อเด็กทำถูกต้อง (ไม่ใช่ถูกใจพ่อแม่) ชมอย่างจริงใจ ชมอย่างพอเหมาะ อย่าเวอร์เกินไป (เด็กรู้สึกได้) นอกจากการชมด้วยปาก การสัมผัส (ลูบหัว, แตะไหล่, ยิ้ม, สบตา, กอด) ล้วนให้ผลลัพธ์ที่ดี และเสริมกำลังใจให้เด็กทำในสิ่งที่เหมาะสมมากขึ้น

ไอเดีย 2: คุยด้วยเหตุผล (why) ก่อนจัดลำดับสิ่งที่ต้องทำ

  • หลายกรณีที่พ่อแม่อาจจะลืมว่าลูกยังไม่รู้เหตุผล/ลืมในเรื่องที่ต้องทำ การพูดอธิบายเหตุผลซ้ำๆช่วยเพิ่มความเข้าใจ และพัฒนาความคิดของเด็กให้เข้าใจในสิ่งที่กำลังจะทำ (แทนการต่อต้าน/เฉยชา)
  • การไม่อธิบายและแปลงร่างใส่อย่างเดียว จะหักล้างการพัฒนาความคิดและเหตุผลในการควบคุมตัวเองของเด็ก และฝึกให้เด็กทำตามคำสั่ง ที่ไม่ช่วยให้ควบคุมตัวเองได้ดีในระยะยาว (และแก้ไขยากขึ้นเรื่อยๆ)
  • ในการคุยเหตุผลในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ มีหลายวิธีย่อย เช่น
  • 1.บอกข้อดี ประโยชน์ เช่น กินสิ่งนี้ดีช่วยให้แข็งแรง จะได้มีแรงไปเล่นได้เยอะ
  • 2.บอกข้อเสีย เช่น การไม่บ้วนปาก แปรงฟัน จะทำให้ฟันผุง่าย พอฟันผุจะเจ็บฟัน กินขนมอร่อยๆไม่ได้
  • 3.บอกผลลัพธ์ข้างเคียง เช่น ทำความสะอาดพื้นที่หลังกินข้าว จะทำให้ไม่มีแมลงมากินเศษอาหาร ทำให้ไม่มีแมลงมากัดเราให้เจ็บๆ

นอกจาก เป้าหมายคือการคุยกันในทางที่บวก สิ่งสำคัญในระยะยาวคือ การที่เด็กสามารถควบคุมตัวเอง ให้ทำในสิ่งที่เหมาสะสมกับสถานการณ์ และรู้ขอบเขตคามรับผิดชอบหรือหน้าที่ของตัวเองได้ดี สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา และความอดทนในการสื่อสาร และค่อยๆสอนกันไป

ถ้าเมื่อไหร่ผู้ปกครองใช้อารมณ์ บังคับ หรือหักล้าง
สิ่งที่จูงใจโดยไม่สนใจความรู้สึกของเด็ก
สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้โดยง่ายในระยะยาว คือ
การต่อต้าน และการไม่ยอมรับ
เช่นเดียวกับที่เราไม่ยอมรับฟังสิ่งที่เขาคิดและรู้สึก

สรุปหลักใหญ่ใจความ ลูกโตขึ้น มีความคิดมากขึ้น
เราต้องพูดน้อยลง ฟังมากขึ้น และหาจุดร่วมใหม่ๆ
เปลี่ยนการสั่ง เป็นการชวน และเมื่อทำได้เหมาะสม
ให้ชมทั้งคำพูดการกระทำให้มากพอ

:)

@windygallery

--

--